ทวิภาษา : ภาษาถิ่นนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาไทยอย่างยั่งยืน
ทวิภาษา : ภาษาถิ่นนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาไทยอย่างยั่งยืน
ฟาฏินา วงศ์เลขา
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ต.ค. 52
ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ โดยมีภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาหลัก และมีภาษาถิ่นย่อย และภาษาถิ่นอื่นๆ อีกมากมายหลายตระกูลภาษา จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีภาษาถิ่นไม่น้อยกว่า 70 ภาษาเลยทีเดียว
ภาษาถิ่น คือ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารของบุคคลที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยจะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สำคัญของภาษาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สำหรับภาษาถิ่นย่อยหลัก แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ ภาษาไทยถิ่นกลาง ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยถิ่นใต้ โดยมีจำนวนผู้ใช้ร้อยละ 39, 28, 10 และ 9 ตามลำดับ นอกจากนี้ คนไทยยังมีการใช้ภาษาถิ่นอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ภาษาเขมรถิ่นไทย ภาษาไทยเลย ภาษามลายูถิ่น ภาษากูย ภาษาญ้อ ภาษาลาวหล่ม ภาษากะเหรี่ยง ภาษามอญ ภาษาม้ง ภาษาลัวะ ภาษาอาข่า ภาษามูเซอ ภาษาจีนฮ่อ ภาษาอึมปี ภาษาทวาย ภาษามลาบรี (ตองเหลือง) เป็นต้น
เสน่ห์ที่สำคัญของภาษาถิ่น นอกจากจะใช้สื่อความหมายกับบุคคลที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันให้เข้าใจตรงกันแล้ว ภาษาถิ่นยังมีความโดดเด่น ความงดงามของภาษา การที่เรารู้และเข้าใจภาษาถิ่น จะช่วยในการเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันของแต่ละท้องถิ่นโดยปริยาย เช่น การแสดงมโนราห์ของภาคใต้ ที่ต้องใช้ภาษาถิ่นใต้ หากใช้ภาษาไทยกลางหรือภาษาถิ่นอื่น ก็จะไม่สื่อความหมาย ทำให้หมดอรรถรสโดยสิ้นเชิง
จากนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขยายโอกาสทางการศึกษาสู่เด็กทุกคนในประเทศไทย และได้มีการสำรวจข้อมูลการใช้ภาษาของนักเรียน ครู และชุมชน จาก 21 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ใน 9 จังหวัดตามแนวชายแดน เมื่อปีงบประมาณ 2551 พบว่า นักเรียนใน 9 จังหวัด มีการใช้ภาษาถิ่นแตกต่างกันกว่า 30 ภาษา มีโรงเรียน 940 โรง จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 3,721 โรง หรือร้อยละ 25.26 ที่นักเรียนใช้ภาษาถิ่นอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เกินกว่าร้อยละ 50 ซึ่งบางโรงเรียนนักเรียนใช้ภาษาถิ่นเดียวกัน บางโรงเรียนนักเรียนใช้ภาษาถิ่นแตกต่างกัน 4-5 ภาษา
แม้ว่าเด็กและเยาวชนตามแนวตะเข็บชายแดนและในพื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนมากขึ้น แต่เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกับการใช้ภาษาถิ่นซึ่งเป็นภาษาแม่ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน จึงมักมีปัญหาและอุปสรรคในการเรียนรู้มากกว่าเด็กในพื้นที่อื่น ๆ ที่ใช้ภาษาไทย สพฐ. จึงได้ดำเนินโครงการทดลองโดยการนำภาษาถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ในหลายรูปแบบ ทั้งโครงการทวิภาษาเต็มรูปแบบ (ภาษาไทย-ภาษาถิ่น) โครงการนำภาษาถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ และโครงการจัดสอนภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นรายวิชาภูมิปัญญา
“จากการรายงานผลการดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโรงเรียนตามแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษ โดยนำภาษาท้องถิ่นมาร่วมจัดการเรียนรู้ หรือโครงการทวิภาษา ซึ่งได้มีการนำร่องไปนั้น พบว่า เด็กมีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าแสดงออก และมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น เพราะสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับครูได้เป็นอย่างดี และโครงการทวิภาษามีการปรับกระบวนการเรียนการสอน เช่น จัดทำสื่อการเรียนรู้พื้นฐานเชื่อมโยงภาษาถิ่นกับภาษาไทย หรือให้คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ร่วมกันออกแบบสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเด็กตามบริบทของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งจากการสำรวจในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ หรือ NT ต่ำกว่ากลุ่มอื่น เป็นเด็กที่อยู่ตามแนวชายแดน ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ครอบครัวมีการศึกษาไม่สูง และมาจากครอบครัวที่ยากจน ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนในระบบมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตามแนวชายแดน แต่มีการย้ายถิ่นฐานกระจายอยู่ทุกพื้นที่ ดังนั้นจะมอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาขยายผลโครงการทวิภาษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ดังกล่าวต่อไป” ข้อความตอนหนึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ของ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ.
สำหรับการจัดการเรียนการสอนโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโรงเรียนตามแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษโดยใช้ภาษาท้องถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ หรือโครงการทวิภาษานี้ ในช่วงแรก ๆ จะแตกต่างจากกระบวนการที่ใช้กับเด็กทั่วไปที่ใช้ภาษาไทยสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยเด็กจะเริ่มเรียนด้วยภาษาถิ่น (ภาษาแม่) ก่อน และใช้ภาษาถิ่นในการสอน ขณะเดียวกันก็จะค่อย ๆ เติมภาษาไทยเข้าไป เริ่มจากระดับฟัง พูด เข้าสู่ระดับอ่าน เขียน เมื่อเด็กเข้าใจภาษาไทยได้ดีแล้ว จึงจะใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอนอย่างเช่นเด็กทั่วไป ที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือ ความคุ้นเคยในภาษาที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน มีผลต่อการเรียนรู้และการพัฒนาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ เพราะเด็กจะไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ได้ดีหากไม่ใช้ภาษาที่เด็กคุ้นเคย
มีงานวิจัยจากหลายประเทศที่สนับสนุนความคิดที่ว่าการเรียนภาษาที่สองจะสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อได้มีการฝึกอ่านเขียนภาษาแม่จนเกิดความเชี่ยวชาญเสียก่อน เช่น กัวเตมาลา (อเมริกากลาง) พบว่า นักเรียนที่ได้เรียนหนังสือโดยใช้ภาษาแม่เป็นสื่อการสอนมาก่อน ต่อมาเมื่อเรียนโดยใช้ภาษาที่สองเป็นสื่อการสอนได้คะแนนสอบสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ภาษาที่สองมาตั้งแต่แรก ฟิลิปปินส์ พบว่า นักเรียนที่ภาษาแม่เป็นภาษาที่ใช้ในการศึกษาแบบทวิภาษา และมีโอกาสได้พูดภาษาแม่ที่บ้าน เรียนเก่งกว่านักเรียนที่ไม่ได้พูดภาษาแม่ที่บ้าน แคนาดา พบว่า นักเรียนจากกลุ่มภาษาหลักที่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนหนังสือโดยใช้ภาษาแม่เป็นสื่อการสอนมาก่อน สามารถเรียนหนังสือที่ใช้ภาษาที่สองเป็นสื่อได้ดีกว่านักเรียนที่ไม่มีโอกาสสัมผัสภาษาแม่ ส่วนสหรัฐอเมริกา นักเรียนชาวนาวาโจที่โรงเรียนร็อคพอยต์ ที่ได้เรียนหนังสือโดยใช้ภาษาแม่เป็นสื่อการสอนมาก่อน เวลาเรียนภาษาที่สองได้คะแนนสอบมากกว่านักเรียนที่เรียนภาษาที่สองมาตลอด เป็นต้น
การเรียนรู้ภาษาไทยระบบทวิภาษาจะต้องสร้างรากฐานการเรียนรู้โดยเริ่มจากภาษาถิ่น สร้างสะพานเชื่อมโยงจากภาษาถิ่นสู่ภาษาไทย สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยใช้ภาษาไทย ภาษาท้องถิ่น และภาษาต่างประเทศ ที่สำคัญคือการนำภาษาประจำชาติเข้าไปใช้ในการเรียนการสอนควรเป็นไปในลักษณะเพิ่มเติมเข้ากับภาษาแม่ ต้องไม่ก้าวเร็วจนเกินไป และจะต้องประเมินความพร้อมของผู้เรียนเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ
- แสดงความคิดเห็น
- อ่าน 14958 ครั้ง