การเรียนรู้บูรณาการในโรงเรียนขนาดเล็ก อีกจุดเน้น สพฐ. ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย
การเรียนรู้บูรณาการในโรงเรียนขนาดเล็ก
อีกจุดเน้น สพฐ. ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย
ฟาฏินา วงศ์เลขา
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 2 พ.ย. 53
“
อันโรงเรียนทั่วไปในประเทศ
ต่างประเภทต่างชั้นกันหนักหนา
ตั้งแต่ตึกสูงงามอร่ามตา
จนกระทั่งหลังคาเป็นตองตึง
โรงเรียนเล็กหรือใหญ่เป็นไรเล่า
ถ้าครูเอาใจใส่ได้ทั่วถึง
พบครูดีทีไรใจคะนึง
ว่าเมืองไทยได้หนึ่งโรงเรียนดี
“
บทกลอนดังกล่าว เป็นบทประพันธ์ของศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่นับเป็นปูชนียบุคคลในวงการศึกษาไทย ผู้ซึ่งทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ คงไม่มีผู้ใดที่อยู่ในแวดวงการศึกษาจะไม่รู้จัก
เราจะเห็นว่า การแบ่งโรงเรียนในประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เรารู้จักโดยทั่วกันคือ โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ แต่ความเป็นจริงยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ สำหรับโรงเรียนที่จัดอยู่ในประเภทโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ตามเกณฑ์ของการจัดขนาดโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กตั้งแต่ 120 คนลงมา ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายทั้งในเมืองและนอกเมือง บางแห่งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ส่วนใหญ่เปิดสอนตั้งแต่ ชั้นอนุบาล-ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่มีบางแห่งที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสซึ่งได้เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
จากการรายงานผลการประเมินของ สมศ. พบว่า โรงเรียนจำนวนมากที่ยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างน่าพึงพอใจนั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มาตรฐานที่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ผ่านการรับรองการประเมินมาตรฐานภายนอกของ สมศ. โดยเฉพาะด้านผู้เรียน เช่น มาตรฐานที่ 4 ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ มาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร มาตรฐานที่ 6 ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
หลายเหตุผลที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการประเมินภายนอก เช่น ปัญหามีครูไม่ครบชั้น ขาดครูบางสาขาวิชา ไม่มีแผนการสอนครบทุกสาระ ซึ่งล้วนส่งผลถึงคุณภาพนักเรียนที่ทำให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ หลายคนเคยเสนอความเห็นให้มีการ “ยุบ/เลิก” กรณีโรงเรียนไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพได้ ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า กรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยมาก ๆ หากโรงเรียนใดพึงเลิกได้ให้ “เลิก” หากโรงเรียนใดพึงรวมกับโรงเรียนอื่นใกล้เคียงได้ให้ “รวม” แต่ต้องหาวิธีการที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองหรือผู้เรียน และหากโรงเรียนใดยังคงเปิดสอนก็จะต้องดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพ
จากการศึกษาพบว่า การจัดการเรียนรู้แบบคละชั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มอัตราครูต่อนักเรียนแล้ว ยังส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นด้วย ส่วนการเรียนการสอนที่แยกส่วนตามรายวิชา ขาดการบูรณาการทั้งด้านเนื้อหา และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำโดย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน และคณะ ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ และได้นำวิธีการจัดการเรียนรู้ แบบคละชั้น (Multigrade Teaching) มาใช้ เพราะเล็งเห็นว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้กรณีที่โรงเรียนมีครูไม่ครบชั้น
การจัดการเรียนรู้แบบคละชั้น เป็นการดำเนินการจัดชั้นเรียนที่นำนักเรียนต่างชั้น ต่างกลุ่มอายุ และต่างความสามารถมาเรียนรู้พร้อมกันในห้องเดียวโดยมีครูคนเดียวจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ ถือเป็นการจัดการเรียนรู้ที่สนองตอบความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคลหรือรายกลุ่มย่อย
ในการจัดเด็กที่เรียนอยู่ต่างชั้น ต่างกลุ่มย่อย ต่างกลุ่มอายุ ต่างความสามารถ แล้วนำมาจัดการเรียนรู้พร้อมกันนั้น ต้องอาศัยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การจัดกิจกรรมแบบรวมชั้น การทำงานกลุ่มย่อย การทำงานแบบคู่ การทำงานรายบุคคล การจัดกลุ่มนักเรียนในชั้นเรียนแบบคละนี้ ครูควรคำนึงถึงพัฒนาการหรือระดับความสามารถของเด็ก และไม่ควรจัดเด็กที่มีความสามารถต่างกันมากๆ มาเรียนรวมกัน เช่น ป. 1 กับ ป. 5 ควรจัดเด็กที่มีระดับพัฒนาการในการเรียนรู้ใกล้เคียงกันมาเรียนรวมกัน เช่น ป. 1 รวมกับ ป. 2 ป. 2 รวมกับ ป. 3 ป. 1-3 ป. 4-6 รวมทั้งปริมาณเด็กในชั้นเรียนแบบคละนี้ ควรมีสัดส่วนครูต่อเด็กไม่เกิน 1: 20 คน เพื่อให้การดูแลเด็กที่ต่างความสามารถในการเรียนรู้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ทั้งในรูปแบบการบริหารจัดการ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการควบคู่กับการเน้นทักษะพื้นฐานที่จำเป็น มีการจัดการเรียนรู้หลักสูตรบูรณาการตามจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน สำหรับการจัดตารางเรียนนั้นในช่วงเช้าเน้นการเรียนรู้ด้านภาษาและคณิตศาสตร์ ส่วนภาคบ่ายจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นหน่วยการเรียนรู้โดยเน้นทักษะที่สำคัญที่เป็นทักษะร่วมในการแสวงหาความรู้ เช่น ทักษะการคิด ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ประกาศ “จุดเน้นคุณภาพผู้เรียน จุดเปลี่ยนการปฏิรูปการศึกษาไทย” สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กได้เน้นการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของกระทรวงศึกษาธิการด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทยรอบสอง
- แสดงความคิดเห็น
- อ่าน 8595 ครั้ง