โครงการ “ต้นกล้าวิจัย” มุ่งสร้างและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่
โครงการ “ต้นกล้าวิจัย”
มุ่งสร้างและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่
ฟาฏินา วงศ์เลขา
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 มี.ค. 54
การวิจัยเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ นี่คือคำยืนยันที่กล่าวตรงกันในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ โดยการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศจะต้องมีเป้าหมายชัดเจนและตอบสนองต่อความต้องการจริงๆ ส่วนการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และจัดทำแผนวิจัยให้มีทิศทางเดียวกันนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
เราจะเห็นว่าหลายประเทศให้ความสำคัญกับการวิจัย แต่สำหรับประเทศไทย เมื่อมองดูสัดส่วนนักวิจัยไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรแล้วถือว่าต่ำมาก นั้นคือ 0.57 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีนักวิจัย 7.02 คน ต่อประชากรหนึ่งพันคน ประเทศเกาหลีมีนักวิจัย 6.58 คน ต่อประชากรหนึ่งพันคน หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ล้วนมีสัดส่วนนักวิจัยต่อประชากรสูงกว่าไทยทั้งสิ้น (จากคู่มือการฝึกอบรม วช., 2554)
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยเช่นเดียวกับหลายประเทศมาโดยตลอด โดยกำหนดนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการการวิจัย เพื่อพัฒนาระบบการวิจัยของชาติให้เข้มแข็ง มีคุณภาพ และสามารถสร้างผลงานวิจัยที่มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ดังเช่นคำกล่าวบางช่วงบางตอนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จากการกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การวิจัยและการสร้างสรรค์เพื่อสังคมและเศรษฐกิจไทย” ในงาน “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2553” ที่ว่า...
“การสร้างงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่นับเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับการ เปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ประชากร เศรษฐกิจ และการเมือง จึงจำเป็นต้องอาศัยปัญญาในการแก้ปัญหาและให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การบูรณาการงานวิจัยจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของสภาวิจัยแห่งชาติ แต่ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยมีนักวิจัยอาชีพค่อนข้างน้อยมากเนื่องจากขาดแรงจูงใจ ดูได้จากข้อมูลในปี 2550 พบว่าประเทศไทยมีนักวิจัยอาชีพที่ทำงานเต็มเวลาประมาณ 21,392 คน ซึ่งรัฐบาลก็พยายามสนับสนุนด้านการศึกษา สร้างแรงจูงใจให้ และสังคยานาระบบบริหารจัดการและสถาบันการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อให้มีนักวิจัยอาชีพเพิ่มมากขึ้น และให้เกิดการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ”
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวิจัยของประเทศ ได้ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนานักวิจัยทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว เพื่อผลิตนักวิจัยที่มีคุณภาพให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หลักสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับการวิจัยทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว เช่น หลักสูตรนักวิจัยสังคมศาสตร์ หลักสูตรนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หลักสูตรการวิจัยระดับหัวหน้าโครงการ หลักสูตรนักวิจัยระดับปฏิบัติการ หลักสูตรนักวิจัยระดับองค์กรท้องถิ่น หลักสูตรการวิจัยแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น
สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมที่เพิ่งจบไปหมาด ๆ คือ หลักสูตรการฝึกอบรมภายใต้ชื่อว่า โครงการ “สร้างนักวิจัย (ต้นกล้าวิจัย)” รุ่นที่ 9 นับว่าเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจมาก ซึ่งเป็นโครงการที่ทาง วช. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 นับถึงปัจจุบันได้สร้างนักวิจัยไปแล้ว 9 รุ่น รวมทั้งสิ้น 423 คน
โครงการ “ต้นกล้าวิจัย” มุ่งให้นักวิจัยมีความรู้ ความเข้าใจ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีประสบการณ์ด้านการวิจัย โดยมีภาคทฤษฎีควบคู่กับปฏิบัติไปพร้อมกัน เน้นการกำหนดโจทย์วิจัยจากพื้นที่ที่มีปัญหาและความต้องการ และการมีส่วนร่วมชุมชนในการทำงานวิจัยจริง รวมถึงการเสริมหลักสูตรโดยการศึกษาดูงานด้านการวิจัยจากหน่วยงานวิจัย ที่เป็น Best practice เพื่อให้ผู้เข้ารับความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมจากการดูงานด้านการวิจัยและสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมทำชุดโครงการวิจัย หรือแผนงานวิจัยต่อไปในอนาคต อันจะนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ การสร้างสรรค์ และการพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศ
หลักสูตร “ต้นกล้าวิจัย” รุ่นที่ 9 ใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรม 4 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 31 มกราคม -25 กุมภาพันธ์ 2554 มุ่งเน้นให้นักวิจัยมือใหม่ได้ฝึกปฏิบัติทำวิจัยอย่างมีระบบ เริ่มด้วยการเรียนรู้ภาคทฤษฎี เช่น กลไกการขับเคลื่อนการวิจัยในระบบวิจัยของประเทศ แนวทางการกำหนดโจทย์วิจัย แนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย ติดอาวุธ ICT สำหรับต้นกล้าวิจัย การออกแบบการวิจัย การสร้างเครื่องมือและการตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น
ภาคปฏิบัติของ “ต้นกล้าวิจัย” รุ่นที่ 9 ลงพื้นที่เพื่อศึกษาในจังหวัดกาญจนบุรี โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ศึกษาประเด็นปัญหาที่น่าสนใจในแต่ละพื้นที่ คือ เขตการค้าผ่านแดน ต.บ้านเก่า อ.เมือง ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง ชุมชนเข้มแข็ง ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน และป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ต.หนองโรง อ.พนมทวน ในการลงพื้นที่ครั้งแรกนั้นแต่ละกลุ่มต้องไปศึกษาหาข้อมูลประเด็นที่เป็นปัญหาหรือน่าสนใจเพื่อนำมากำหนดโจทย์วิจัย จากนั้นมีการทบทวนวรรณกรรมและสร้างเครื่องมือ และการลงพื้นที่ครั้งที่สองเพื่อนำเครื่องมือไปทดลองใช้และเก็บรวบรวมข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลและเขียนรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์
วันสุดท้ายของการฝึกอบรมหลักสูตร “ต้นกล้าวิจัย” รุ่นที่ 9 ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ประทับใจและมีคุณค่ายิ่ง เพราะนอกจากจะได้ไปเติมเต็มความรู้จากภาคทฤษฎีและประสบการณ์จากลงพื้นที่ในการศึกษาวิจัยแล้ว ยังถือเป็นการสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานต่อไปในอนาคต เนื่องจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาจากหลากหลายหน่วยงาน องค์กร สถาบัน มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ต้นกล้าวิจัย” ในวันนี้จะกลายพันธุ์เป็น “นักวิจัยมืออาชีพ” ที่ร่วมสร้างสรรค์งานวิจัยที่ดีมีคุณภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ มิใช่เป็นเพียงงานวิจัยเล่มหนาๆ ที่วางโชว์ผู้คนไว้บนหิ้ง
- แสดงความคิดเห็น
- อ่าน 6437 ครั้ง