การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม : ปัญหาที่ท้าทายของครูไทย
การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม : ปัญหาที่ท้าทายของครูไทย
ฟาฏินา วงศ์เลขา
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 มิ.ย. 52
คุณธรรมจริยธรรมเป็นเหมือนเสาต้นใหญ่ที่แข็งแรงคอยค้ำจุนสังคมในอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างยั่งยืนถาวร และเสาต้นนี้ได้ถูกกัดกร่อนกำลังจะหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากการขาดคุณธรรม จริยธรรมของบุคคลที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม และจะกลายไปเป็นปัญหาเรื้อรังของชาติบ้านเมืองที่ยากจะเยียวยาแก้ไข
หากมีการหยิบยกปัญหาคุณธรรมจริยธรรมมาถกกันในเวทีใดก็ตาม เสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนต่างมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าเกิดจากความล้มเหลวด้านการจัดการศึกษา เพราะมองว่าการปลูกฝังผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตนั้นเป็นภาระหน้าที่ของสถานศึกษา และแม้แต่ในสถานศึกษายังเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ที่กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้พุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ ซึ่งนั่นคือความเข้าใจที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก
จริง ๆ แล้ว การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมจะต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานที่มั่นคง จากนั้นสถานศึกษาทุกระดับต้องมีความเข้มแข็งในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรมจริยธรรม รู้เท่าทันกับความซับซ้อนของสังคม รู้จักเลือกรับแต่สิ่งดี ๆ ไม่ใช่รับทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา และที่สำคัญต้องเข้าใจบริบทและข้อจำกัดของตนเอง โดยมีผู้ใหญ่จากทุกภาคส่วนในสังคมเป็นแบบอย่างที่ดี
ถ้าดูจากหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 หรือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หรือหลักสูตรใหม่ ที่มีการนำร่องทดลองใช้ในโรงเรียนต้นแบบในปีการศึกษานี้ และจะใช้พร้อมกันทั่วประเทศในปีการศึกษาต่อไป ล้วนมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัย และปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ...นี่คือส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้เป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียนเมื่อจบการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ หลักสูตรใหม่ยังได้กำหนดให้สถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำคัญ คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ
หลายคนคิดว่าการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม สถานศึกษาต้องเน้นให้เด็กได้เรียนวิชาที่ว่าด้วยศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม หรือหลักธรรมของศาสนาเท่านั้น แต่การสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนนั้น กระบวนการเรียนรู้สามารถพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ โดยการสอดแทรกในกระบวนการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพราะคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรสามารถสร้างให้เกิดได้โดยผ่านกระบวนการปฏิบัติงาน ทั้งงานส่วนบุคคล และการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น ครูผู้สอนคงมิได้มีหน้าที่เพียงแต่สอนเนื้อหาในหนังสือให้จบเท่านั้น แต่ยังต้องช่วยกันคำนึงถึงการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนด้วย เพื่อสรรค์สร้างให้ผู้เรียนเป็นคนที่มีความรู้คู่คุณธรรมนำชีวิตไปสู่ความสุข
“จะสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้อย่างไร” คาดว่าจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของครูผู้สอนจำนวนไม่น้อย... คงต้องเริ่มต้นจากการที่ครูผู้สอนร่วมกันวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ว่าสามารถสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในเรื่องใดบ้าง แม้จะเป็นสาระการเรียนรู้เดียวกันยังสามารถสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมที่แตกต่างกันให้เหมาะสมตามวัยและชั้นปี แล้วจึงกำหนดแผนการจัดการเรียนรู้ ให้สามารถจัดการเรียนรู้ที่สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างต่อเนื่องและไม่ซ้ำซ้อน
การสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมเฉพาะในห้องเรียน อาจยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นในผู้เรียนได้อย่างยั่งยืนและถาวร สถานศึกษายังจำเป็นต้องจัดกิจกรรมเสริมที่หลากหลาย โดยใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า อีกทั้งเปิดให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับประสบการณ์ทางคุณธรรมจริยธรรมด้วยวิธีการและจากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งจากเพื่อน ครู ครอบครัว ชุมชน และสังคม
ครูผู้สอนคงจะไม่สามารถพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จได้ หากขาดการสนับสนุนของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และมีทักษะด้านบริหารจัดการ มีความสามารถในการสร้างเครือข่าย เพื่อจัดสรรและระดมทรัพยากรจากชุมชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมสนับสนุนกิจกรรม และที่สำคัญผู้บริหารและครูผู้สอนต้องมีคุณธรรมจริยธรรม เพราะต้องไม่ลืมว่า แบบอย่างที่ดีสามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมได้ดีกว่าการสั่งสอนหรือการสั่งให้ทำ และการกระทำใด ๆ ที่ขัดแย้งกับคำสอนของตนเองจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเป็นอย่างมาก
แม้สังคมจะมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่า คุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่จะให้เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างไร แต่การพัฒนาคุณลักษณะที่จะให้เกิดขึ้นภายในจิตใจคือคุณธรรมซึ่งเป็นนามธรรมนั้นเป็นภารกิจที่ยากยิ่งต่อการวัดและประเมินผลของครูผู้สอน ซึ่งจะเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดท้าทายความสามารถของครูผู้สอนต่อไป
ณ วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องตระหนักถึงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด ครูต้องมีสำนึกและจิตวิญญาณของความเป็นครูเพิ่มขึ้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรศาสนา สื่อมวลชนทั้งหลายต้องตื่นตัว ผนึกกำลังร่วมกันเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยึดหลักคุณธรรมนำชีวิตไปสู่ความสุข และที่สำคัญต้องเป็นความสุขแบบเรียบง่ายและยั่งยืน
- แสดงความคิดเห็น
- อ่าน 16820 ครั้ง