โรงเรียนวิถีอิสลาม รูปแบบการศึกษาที่โดนใจชุมชนมุสลิม
โรงเรียนวิถีอิสลาม
รูปแบบการศึกษาที่โดนใจชุมชนมุสลิม
ฟาฏินา วงศ์เลขา
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 มี.ค. 52
การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตเป็นพลเมืองที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข การจัดการศึกษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเช่นพื้นที่ในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้วิชาสามัญควบคู่ศาสนาอิสลาม
อิสลามศึกษาได้เข้ามาในระบบโรงเรียนรัฐบาลมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เมื่อก่อนจัดสอนเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ต่อมาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดให้ผู้เรียนที่นับถือศาสนาอิสลามได้เรียนรู้อิสลามศึกษา ในสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยสถานศึกษาส่วนใหญ่ได้จัดสอนอิสลามศึกษาประมาณ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปัจจุบันมีสถานศึกษาเปิดสอนอิสลามศึกษามากกว่า 30 จังหวัด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ยึดมั่น ศรัทธา และปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขนั่นเอง
แต่สำหรับพื้นที่ในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก ประมาณ 80% นั้น การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ประมาณ 2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้วิชาสามัญควบคู่กับวิชาด้านศาสนาที่เข้มขึ้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายให้นำร่องเปิดสอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนา หรือที่เรียกกันว่า “อิสลามศึกษาแบบเข้ม” ในโรงเรียนรัฐบาล ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 จำนวน 142 แห่ง และขยายเพิ่มในปีการศึกษา 2551 จำนวน 132 แห่ง ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เปิดสอนอิสลามศึกษาแบบเข้ม รวม 274 แห่ง และเมื่อผู้เรียนจบหลักสูตรจะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งด้านสามัญและศาสนา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้เรียนที่จะก้าวเดินต่อไปเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาล
โรงเรียนบ้านจะแนะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 3 เป็นโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดง ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดสอนวิชาสามัญควบคู่ศาสนาในโรงเรียนของรัฐ โดยได้ทดลองเปิด “ห้องเรียนวิถีอิสลาม” เพียง 1 ห้องเรียน ในปีการศึกษา 2547 และในปีการศึกษา 2548 ได้ขยายห้องเรียนวิถีอิสลามในชั้น ป.1 ทุกห้องเรียน เนื่องจากเป็นที่พึงพอใจของผู้ปกครองและชุมชน โดยได้จัดสอนอิสลามศึกษาควบคู่กับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการเพิ่มชั่วโมงเรียนอิสลามศึกษาจาก 2 ชั่วโมง เป็น 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เน้นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมุสลิม ซึ่งถือเป็นการศึกษาที่สนองตอบต่อความต้องการของชุมชน และสอดคล้องกับวิถีชีวิต อีกทั้งชุมชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาอีกด้วย
สำหรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนวิถีอิสลามของโรงเรียนบ้านจะแนะ เป็นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่ผสมผสานทั้งการเรียนวิชาสามัญควบคู่กับวิชาอิสลามศึกษา คือ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ของวิชาสามัญ ประกอบด้วย ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา สุขศึกษา/พลศึกษา ศิลปะ/ดนตรี การงานอาชีพฯ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (แนะแนว/ลูกเสือ/ชุมนุม) มีครูประจำการโรงเรียนบ้านจะแนะ เป็นผู้รับผิดชอบโดยใช้วิธีจัดการเรียนการสอนบูรณาการทุกวิชาโดยยึดภาษาไทยเป็นหลัก ส่วนสาระการเรียนรู้อิสลามศึกษา ประกอบด้วย อัล-กุรฺอาน อัล-หะดีษ ศาสนบัญญัติ ศาสนประวัติ หลักการศรัทธา จริยธรรม ภาษาอาหรับ และภาษามลายู มีวิทยากรจากชุมชนดารุลนาอีมเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเน้นให้นักเรียนปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น การละหมาด การอ่านดุอาอฺ การสลามเมื่อพบกัน เป็นต้น
ส่วนการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้น เน้นการปฏิบัติจริงของนักเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมุสลิม เช่น ฝึกการให้สลามหรือการทักทายแบบมุสลิม การทำความเคารพ และฝึกมารยาทอื่นๆ การสอนอ่านอัล-กุรอานช่วงเช้าก่อนเคารพธงชาติ การปฏิบัติละหมาดทุกวัน การอบรมหลังละหมาด การละหมาดวันศุกร์ การเข้าค่ายจริยธรรมเดือนละ 2 ครั้ง การเข้าค่ายเดือนเราะมะฎอน กิจกรรมช่วยเหลือเพื่อนนักเรียน กิจกรรมชุมนุมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี การแข่งขันกีฬา โดยจัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมุสลิม เป็นต้น
จากการประเมินผลพบว่า การจัดการเรียนรู้ห้องเรียนวิถีอิสลาม เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ชุมชนมีความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น การขาดเรียนลดลง และเรียนรู้อย่างมีความสุข อีกทั้งสามารถปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาได้อย่างถูกต้อง
นายอาไซน์น่า อับดุลเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจะแนะ เล่าให้ฟังพร้อมกับรอยยิ้มอย่างภาคภูมิใจในภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองว่า กว่าจะมาเป็นห้องเรียนวิถีอิสลามนั้น โรงเรียนกับผู้นำชุมชนได้ร่วมกันวิเคราะห์ทำให้พบปัญหาหลายประเด็น เช่น นักเรียนที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา บางส่วนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม เช่น ก้าวร้าว ติดยาเสพติด มั่วสุมในอบายมุข ละเลยและไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา และผู้ปกครองบางส่วนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาเท่าที่ควร ทำให้นักเรียนขาดเรียนค่อนข้างมาก การเรียนอ่อน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ อีกทั้ง การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้น ชุมชนจึงต้องการให้โรงเรียนบ้านจะแนะจัดการเรียนการสอนที่เน้นคุณธรรม จริยธรรม โดยการเพิ่มอิสลามศึกษาจาก 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของประชาชนในพื้นที่ โดยชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีผู้นำ ผู้บริหาร ครูผู้สอนจากหน่วยงานและโรงเรียนต่าง ๆ จากหลายจังหวัดทั้งใกล้ไกลได้มาเยี่ยมชมศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนบ้านจะแนะจำนวนมาก
“ผมและคณะมีความรู้สึกดีใจและสนใจที่ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวชุมชน ในอันที่จะส่งเสริมการเรียนการศึกษาทั้งภาควิชาการและภาคภาษาทางศาสนาอิสลาม ด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างดียิ่ง ขอให้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในอันที่จะช่วยกันทำนุบำรุงโรงเรียนและศาสนาให้มีความรุ่งเรืองสืบต่อไป” พลโท วีระ สินธุวงศานนท์ หัวหน้าคณะตรวจเยี่ยมโครงการฯ กองงานในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ : 22 กุมภาพันธ์ 2548
“ขอชื่นชมในความคิดริเริ่มที่จัดให้มีการจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่ผสมผสาน ทั้งการเรียนสายสามัญกับการศึกษาศาสนาควบคู่กันไป สร้างความสมดุลในความรู้ ทั้งทางโลกและทางธรรมให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่เยาว์วัย สร้างความอบอุ่นใจแก่ชุมชนและผู้ปกครอง” นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี : 21 พฤษภาคม 2548
“ยินดีที่ได้มาเยี่ยมโรงเรียนบ้านจะแนะ ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงเรียนวิถีอิสลาม หลังจากดำเนินการประสบความสำเร็จ สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ปกครองที่ส่งลูกมาเรียนมากขึ้น และนักเรียนมีผลการเรียนที่ดี จึงขอแสดงความชื่นชม และหวังว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสถานศึกษาอื่น ๆ ต่อไป” คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน : 8 กุมภาพันธ์ 2550
การจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่ผสมผสาน ระหว่างการเรียนวิชาสามัญกับการศึกษาศาสนาควบคู่กันไป ถือเป็นการสร้างความสมดุลในความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และเกิดความร่วมมือร่วมใจ ความสมัครสมานสามัคคีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และนี่คือตัวแปรหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสันติสุขให้เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน
- แสดงความคิดเห็น
- อ่าน 12445 ครั้ง