๙,๙๙๙ สถานศึกษาพอเพียงถวายในหลวง กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา
๙,๙๙๙ สถานศึกษาพอเพียงถวายในหลวง
กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา
ร.ท.หญิงสุดาวรรณ เครือพานิช
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 พ.ค. 54
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” (จากวารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒)
"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมอบให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกระดับ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในชนบท หรือในเมือง ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดหรืออยู่ในสถานะใด และไม่ใช่เรื่องของภาคเกษตรเท่านั้น แต่เป็นหลักคิด หลักปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางใน การดำเนินชีวิตสำหรับทุกคน เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้า และรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจสังคม ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
การปฏิบัติตนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ควรเริ่มจากตนเองด้วยการรู้จักกิน รู้จักใช้ ไม่ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินกว่ารายได้ที่ตนได้รับ จนตกเป็นหนี้สินเกิดความเดือดร้อน แต่ควรมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง พอประมาณ ตามฐานะ ตามอัตภาพที่เหมาะสมกับตนเอง ใช้ความรู้ ความสามารถของตนที่มีอยู่จัดการกิจการต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จ และเห็นคุณค่าในการอยู่ร่วมกันในสังคม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ถ้าประชาชนทุกคนปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง ก็จะช่วยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความพออยู่พอกิน และสามารถอุ้มชูตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นและสังคมได้
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สามารถดำเนินการหลากหลายรูปแบบ และทุกภาคส่วนในสังคมได้ผนึกกำลังร่วมกันมาโดยตลอด ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา มุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาพลเมืองยุคใหม่ให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สอดรับกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้เป็นปีมหามงคล ดังนั้น เพื่อเทิดพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสทรงเจริญพระชนม์มายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้ขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เป็น “สถานศึกษาพอเพียง” ปีนี้มีเป้าหมายทั่วประเทศ จำนวน ๙,๙๙๙ แห่ง
การปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในวัยเรียนได้รู้จักการใช้ชีวิตที่พอเพียง คือ เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่าง ๆ ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ค่านิยม เอกลักษณ์/ความเป็นไทย เหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
แม้ว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ได้มุ่งเน้นให้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกำหนดไว้ในสาระเศรษฐศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนเฉพาะเนื้อหาสาระนั้นไม่เพียงพอในการปลูกฝังและเสริมสร้างอุปนิสัย “อยู่อย่างพอเพียง” สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงมีนโยบายให้สถานศึกษาทุกแห่งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดการศึกษา และจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง
สำหรับนโยบายขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาของ สพฐ. นั้น ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนาและประเมินให้สถานศึกษาในสังกัดจำนวน ๙,๙๙๙ แห่ง เป็นสถานศึกษาพอเพียงในปี ๒๕๕๔ และให้สถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงไปสู่การจัดการศึกษา ภายในปี ๒๕๕๖ โดยเฉพาะการยกระดับโรงเรียนไปสู่ “ศูนย์การเรียนรู้” ที่สามารถเป็นแบบอย่างและเป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษาต่าง ๆ ในจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนได้ อย่างน้อย ๑ ศูนย์ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา
สำหรับการพัฒนาสถานศึกษาให้สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดการศึกษานั้น สามารถแบ่งระดับคุณภาพของการพัฒนาสถานศึกษา ๔ ระดับ คือ
สถานศึกษาทั่วไป : สถานศึกษาที่เริ่มน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการสถานศึกษา ตั้งแต่การบริหารสถานศึกษา การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การจัดสภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
สถานศึกษาพอเพียง : สถานศึกษาทั่วไปที่ผ่านการประเมินสถานศึกษาพอเพียงซึ่งเป็นแบบอย่างในการจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามเกณฑ์ประเมินสถานศึกษาพอเพียงของกระทรวงศึกษาธิการ
สถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ : สถานศึกษาพอเพียงที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ พร้อมเป็นแหล่งศึกษาดูงานของสถานศึกษาอื่น ๆ ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดการสถานศึกษา
ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา :สถานศึกษาพอเพียงต้นแบบที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้และพี่เลี้ยง ให้แก่สถานศึกษาทั่วไปที่ต้องการพัฒนาสู่ความเป็นสถานศึกษาพอเพียง
ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษานั้น สพฐ. ได้ดำเนินการร่วมกับโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และได้เชิญชวนหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ เข้าร่วมพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง และพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สพฐ. ได้อบรมศึกษานิเทศก์และผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ๒๒๕ เขต เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเข้าในเกี่ยวกับหลักการประเมินและเส้นทางการพัฒนาสถานศึกษาในระดับต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนไปสู่การมีวิถีพอเพียงในการจัดการศึกษา ตลอดจนการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาด้วย
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงเป็นหลักคิดในการทำงาน การใช้ชีวิต เมื่อนำไปสู่สถานศึกษาให้สามารถจัดการศึกษา ซึ่งรวมถึงการบริหารสถานศึกษา การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การจัดสภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จึงกล่าวได้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงคือวิถีชีวิต”
- แสดงความคิดเห็น
- อ่าน 9423 ครั้ง